สังคม » องคมนตรี เน้นย้ำการทำงานแบบบูรณาการพร้อมติดตามการก่อสร้างอาคารโครงการหลวง

องคมนตรี เน้นย้ำการทำงานแบบบูรณาการพร้อมติดตามการก่อสร้างอาคารโครงการหลวง

13 มีนาคม 2020
543   0

Spread the love

องคมนตรี ประชุมมูลนิธิโครงการหลวง เน้นย้ำการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ พร้อมทั้งติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างอาคารศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง

พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานการประชุมมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนมีนาคม 2563 ณ สำนักงานมูลนิธิโครงการหลวง โดยการประชุมเป็นการทำความเข้าใจ ติดตาม และแก้ไข การทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ ทั้งส่วนราชการ องค์กรท้องถิ่น และศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินงานของโครงการหลวง ซึ่งมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นเพื่อขยายงานของโครงการหลวง โดยนำรูปแบบการพัฒนาแบบโครงการหลวงไปปรับใช้ในพื้นที่สูงแห่งอื่นๆ ในประเทศ ในชื่อโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงขณะนี้มีโครงการจำนวน 33 แห่ง ใน 8 จังหวัด และในปี 2562 มีพื้นที่ดำเนินงานใน 3 จังหวัด ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ด้วยวิธีการส่งเสริมโดยให้ผู้นำชุมชนเป็นแกนนำการพัฒนาร่วมกับหน่วยงานและเจ้าหน้าที่โครงการ และมีการจัดตั้งสหกรณ์เพื่อบริหารการจำหน่ายผลิตผล ผลิตภัณฑ์ในชุมชน

ศูนย์พัฒนาที่ดินโครงการหลวง หน่วยงานภายใต้กรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินงานสนับสนุนโครงการหลวงในการปรับปรุงดิน ให้ความรู้อบรมหมอดินอาสาส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ให้กับเกษตรกร สำหรับการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่โครงการหลวง ดำเนินงานในรูปแบบคณะทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐระดับจังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งองคมนตรีได้เน้นย้ำการดำเนินงานโดยยึดตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่คณะทำงานโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติจังหวัดกาญจนบุรีในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ในเรื่องคนอยู่กับป่า จะต้องดำเนินการตามแนวพระราชดำริที่รัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ คือ การจะรักษาความอุดมสมบรูณ์ของป่าอย่างยั่งยืน ต้องให้คนในชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และช่วยกันดูแลรักษาป่า ผู้รับผิดชอบจะต้องเข้าไปสำรวจ ดัดแปลงภูมิประเทศ พัฒนาธรรมชาติให้ดีขึ้นโดยไม่เสียหาย รักษาธรรมชาติเดิมที่เกื้อกูลอยู่แล้ว ตั้งเป้าหมายมีกรอบขอบเขตและแนวทางทำงานอย่างชัดเจน เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม

นอกจากนี้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 5 หน่วยงานภายใต้สำนักงาน ปปส. ซึ่งร่วมทำงานกับโครงการหลวงมาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ในปี 2563 ได้จัดอบรมให้ความรู้การป้องกัน บำบัดรักษาและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่โครงการหลวงแล้ว จำนวน 4 แห่ง จัดอบรมเสริมสร้างภาวะความเป็นผู้นำสู่การทำงานแบบเครือข่าย เพื่อขจัดยาเสพติดในพื้นที่อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าปกาเกอะญอ พัฒนาศักยภาพและสร้างภูมิต้านทานด้านยาเสพติดแก่เยาวชนในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ และในพื้นที่ใกล้เคียง และโครงการหลวงยังได้รับการสนับสนุนจากศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมพัฒนาแผนชุมชน อบรมให้ความรู้การประกอบอาชีพ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ “เสริมสร้างชุมชนอยู่ดีมีสุข” ในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม นำทางชุมชนสู่การเป็นชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำ

ส่วนมณฑลทหารบกที่ 33 ได้ร่วมมือในการสนับสนุนการก่อสร้างเพื่อพัฒนาศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงบนพื้นที่สูงป่าเมี่ยง ซึ่งเป็นการขยายพื้นที่ผลิตปลาเทร้าต์ นอกจากเป็นสัตว์ที่ต้องอาศัยอยู่ในน้ำเย็นที่ไหลผ่านแล้ว น้ำจะต้องบริสุทธิ์ ไม่มีการปนเปื้อน ซึ่งเป็นการทดสอบระบบนิเวศน์ของพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

จากนั้น ในช่วงบ่าย นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง และ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ได้เดินทางไปตรวจรับงานก่อสร้าง และติดตามความก้าวหน้าพื้นที่ก่อสร้างอาคารศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวงในระยะที่ 1 ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ก่อสร้างอาคารศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ในบริเวณพื้นที่ของมูลนิธิโครงการหลวงแม่เหียะ จำนวนเนื้อที่ 21.9 ไร่ เพื่อเป็นส่วนปฏิบัติการทดลองวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรสาขาต่างๆ และการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตของเกษตรกร ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการเป็นศูนย์การเรียนรู้การพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนของโครงการหลวง และเผยเเพร่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งการออกแบบอาคารได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน อาทิ ส่วนงานออกแบบ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี กรมโยธาธิการและผังเมือง โดยมีกองพลพัฒนาที่ 3 กองทัพภาคที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ระยะเวลาก่อสร้าง 20 เดือน ปัจจุบันมีความก้าวหน้าร้อยละ 8.27