เศรษฐกิจ » หอการค้าฯ ชม.ชี้ศก. 3 ไตรมาสหดตัว เงินหายจากการท่องเที่ยวกว่า 1 แสนล้านบาท ความหวังเดียวมาตรการรัฐลงชุมชน

หอการค้าฯ ชม.ชี้ศก. 3 ไตรมาสหดตัว เงินหายจากการท่องเที่ยวกว่า 1 แสนล้านบาท ความหวังเดียวมาตรการรัฐลงชุมชน

9 ตุลาคม 2020
684   0

Spread the love

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่แถลงเศรษฐกิจ 3 ไตรมาสปี 2563 และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2564 หดตัวมาก  สาขาท่องเที่ยวจึงเป็นสาขาที่ฟื้นตัวช้าที่สุด ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจหายไปจากระบบไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท หวังปัจจัยรอดหลักมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐที่มีประสิทธิภาพและลงลึกถึงเศรษฐกิจชุมชน และการจ้างงานในพื้นที่ ชี้การเตรียมรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourist VISA: STV) แบบจำกัดในพื้นที่เชียงใหม่ต้องรอบคอบและมีมาตรการที่รัดกุม หากทำได้จะเป็นพื้นที่ต้นแบบกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้

นายวโรดม  ปิฎกานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2563 และแนวโน้มปี 2564 ว่า  หากประเมินภาพรวมปี 2563 ถือว่าเศรษฐกิจในพื้นที่หดตัวมาก เพราะได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการควบคุมโรคระบาดที่เข้มงวดทั้งในและต่างประเทศเป็นสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจเชียงใหม่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในเกณฑ์สูงและสาขาท่องเที่ยวจึงเป็นสาขาที่ฟื้นตัวช้าที่สุดทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในฟื้นที่ตลอดทั้งปีหายไปจากระบบไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท

ส่วนปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2564 จะสอดคล้องกับเศรษฐกิจ   มหภาคคือขึ้นอยู่การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงในไทย หากไม่มีการระบาด โอกาสการฟื้นตัวจะเร็วขึ้น รวมถึงปัจจัยเรื่องวัคซีน การใช้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ และการเตรียมพร้อมเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้เป็นต้น

ล่าสุดเชียงใหม่ได้เตรียมความพร้อมด้านมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในการจัดเตรียมที่พักแบบ Alternative Local Quarantine สำหรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourist VISA: STV) แบบจำกัดจำนวนตามที่กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาฯ การท่าอากาศยานเตรียมความพร้อมที่จะรับเที่ยวบินระหว่างประเทศวันละ2 เที่ยวบิน หรือไม่เกินวันละ 400 คน ในส่วนหอการค้าฯ คิดว่าเราจะต้องรอบคอบและมีมาตรการที่เข้มงวด ซึ่งหากดำเนินการได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อมาตรการด้านสาธารณสุข รวมถึงความร่วมมือของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หอการค้าฯ ก็จะได้มีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการปฏิบัติของจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป ซึ่งหากดำเนินการได้จะเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ได้ ซึ่งคิดว่าภายในปีนี้ยังคงไม่สามารถดำเนินการได้ทัน

ทั้งนี้ ในช่วง 3 ไตรมาสแรกจากการติดตามของหอการค้าฯ พบว่าการบริโภคการบริโภคภาคเอกชนหดตัวมาก ตามกำลังซื้อโดยรวมที่ลดลง จากมาตรการควบคุมโรคระบาดและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำ การลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่องทั้งการลงทุนด้านก่อสร้างและลงทุนในเครื่องจักและอุปกรณ์ การก่อสร้างทั้งอาคารสูงและแนวราบหายไปจากผลของ COVID-19  การซื้อของลูกค้าในประเทศมีประปรายเนื่องจากขาดสภาพคล่อง ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้ชะลอการลงทุนโครงการใหม่ออกไปก่อน ขณะที่มาตรการเยียวยาภาครัฐช่วยพยุงการบริโภคเพียงบางส่วน การใช้จ่ายสินค้าลดลงทุกหมวดสินค้าโดยเฉพาะหมวดบริการ สินค้าในชีวิตประจำวัน และหมวดยานยนต์หาดตัวมากทุกประเภท

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2564 อยู่กับมาตรการและนโยบายกระตุ้นของภาครัฐเป็นเรื่องหลักได้แก่ กระตุ้นกำลังซื้อภาคชาวบ้านผ่านราคาสินค้าเกษตร และกำลังซื้อของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย การกระตุ้นด้านการคลัง เพิ่มการใช้จ่าย  ทดแทนการลงทุนภาคเอกชน การดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนและสามารถแข่งขันได้  โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือกลุ่มที่มีความเปราะบางและ SME ซึ่งล่าสุดออกมาตรการด้านการสร้างแรงงานตามโครงการ 1 มหาวิทยาลัย 1 ตำบลก็จะช่วยให้แรงงาน และนักศึกษาจบใหม่มีงานทำเพิ่มมากขึ้น

และเปิดแผนงานหอฯ เชียงใหม่ กระตุ้นเศรษฐกิจปี 2564 จะเร่งดำเนินโครงการและกิจกรรมที่กระตุ้นเศรษฐกิจเชียงใหม่ ในปลายปีนี้และปี 2564 ดังนี้

  1. การกระตุ้นภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชียงใหม่  โดยจะส่งเสริมสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวภายในประเทศเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดรอบข้าง เพื่อช่วยเติมเต็มช่องว่างของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปซึ่งจากผลการสำรวจของแคมเปญ Go Local ที่อโกด้าได้จัดทำขึ้น ในการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศของหลายประเทศทั่วโลก พบว่า นักท่องเที่ยวไทย 78%  ที่อยากออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากที่สุด โดย 3 จุดหมายปลายทางยอดนิยมแรกของนักท่องเที่ยวไทย คือ เชียงใหม่ ภูเก็ต และหัวหิน ตามลำดับ  และยิ่งปัจจุบันเรามีเที่ยวบินข้ามภูมิภาคมากขึ้นก็จะได้มีการจัดแคมเปญและการดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น เพื่อให้รายได้หมุนเวียนจากการท่องเที่ยวเชียงใหม่จากนักท่องเที่ยวไทยที่เดิมเคยมี 70,000 ล้านบาทใกล้เคียงกัน

2.การเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ของจังหวัดเชียงใหม่ และภาคเหนือ  ซึ่งหอการค้าฯ จะได้ร่วมกับองค์กรเครือข่ายติดตามและแก้ไขปัญหาเร่งด่วนกับช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพและเศรษฐกิจโดยรวม หากปลายปีนี้ต้นปีหน้าลดปัญหาลงก็จะทำให้งบประมาณที่แก้ไขปัญหาลดลง โดยในปี 2561-2562 ผลกระทบจากเรื่องของ PM2.5 สร้างความเสียหายให้แก่เชียงใหม่มูลค่ากว่า 48,400-50,000 ล้านบาท

  3. Medical-Wellness Tourism เพื่อรองรับ Long Stayer  เนื่องจากเชียงใหม่มีเทคโนโลยีแพทย์เฉพาะทางเฉพาะด้านที่มีชื่อเสียง และมีโรงพยาบาลระดับมาตรฐานในระดับนานาชาติ ตลอดจนธุรกิจบริการด้านสุขภาพที่ครบวงจร โดยศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของเชียงใหม่ มีสถานบริการโดยรวมมากถึง 1,534 แห่ง แบ่งเป็น1.บริการด้านการแพทย์ (medical tourism hub) มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่เป็นของภาครัฐจำนวน 22 แห่ง ภาคเอกชน15 แห่ง ศูนย์บริการผู้สูงอายุ 4 แห่ง มีบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล  ทันตแพทย์ จำนวนราว 3,500 คน 2.บริการสุขภาพ (wellness hub) มีสถานประกอบการสปา 48 แห่ง ร้านนวด 648 แห่ง บุคลากรมากกว่า 5,000 คน โรงเรียนนวดแผนไทย 14 แห่ง โดยแต่ละปีมีชาวต่างชาติให้ความสนใจมาเรียนมากกว่า 10,000 คน 3.ผลิตภัณฑ์สุขภาพ (product hub) และ 4.บริการการศึกษา อบรม วิจัย (academic hub) มากกว่า 10,000 คน ส่วนผู้ทำธุรกิจด้าน long stay ด้านสุขภาพ บริการที่พัก ท่องเที่ยว มีประมาณ 150 กิจการ ซึ่งคาดว่าได้สร้างเงินหมุนเวียนในพื้นที่มากกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี

4.การผลักดันด้านการค้าชายแดน   กิ่วผาวอกหลักแต่ง โดยหอการค้าฯ ได้ผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดทางกระทรวงพาณิชย์ได้สนับสนุนและประสานงานทางพม่าแล้ว  หากมีการเปิดผ่อนปรนก็จะเป็นการสร้างอาชีพสร้างรายได้ ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงจะส่งเสริมการท่องเที่ยวชายแดนด้วย  ดังนั้นหากสามารถยกระดับเป็นด่านถาวรได้จะทำให้มีการค้าการลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าทางการค้าที่เกิดขึ้นจะสูงถึงปีละ 5 หมื่นล้านบาท

  5. โครงการ Thai cometopoeia     หรือการสร้างสรรค์คุณค่าเครื่องสำอางตามเอกลักษณ์ท้องถิ่น ที่หอการค้าร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว) ที่จะร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์นวอัตลักษณ์เครื่องสำอาง (Innovative Identity Cosmetic) ประเทศไทยให้มีความโดดเด่น และแตกต่าง ด้วยการใช้ทรัพยากรฐานชีวภาพที่มีความเป็นเอกลักษณ์ในพื้นที่  โดยใช้ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม  ในอนาคตจะเป็นภาคเศรษฐกิจที่เติบโตมีมูลค่ามากกว่า 5 พันล้านบาท

  6. โครงการ Medicopolis เชียงใหม่เป็นจังหวัดเดียวในประเทศที่ได้ลงนามกับ TCEL และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งหอการค้าจังหวัดเป็นเครือข่ายหนึ่งที่จะส่งเสริมจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองสุขภาพ  ในการรองรับกลุ่มผู้รักสุขภาพ และการดูแลรักษาพยาบาลในอนาคต ซึ่งมูลค่าเศรษฐกิจหมุนเวียนประมาณ1 หมื่นล้านบาท

7. สนับสนุนโครงการ Gastronomy Tourism ที่หอการค้าฯ จะได้ร่วมมือกับจังหวัดเชียงใหม่ ฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายหลังวิกฤติโควิด-19   ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ เกษตรกร ผู้ประกอบการร้านค้า และผู้ประกอบการธุรกิจบริการ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท เป็นการสร้างภาพลักษณ์เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารล้านนาแบบใหม่ หรือ Chiang Mai Gastronomy Culture และเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวคุณภาพในปี 2564 ไม่น้อยกว่า 50,000 คนด้วย

  8. Smart City เมืองอัจฉริยะ หอการค้าฯ มีแผนงานที่จะร่วมกับภาคเอกชน และภาคการศึกษาที่จะผลักดันให้เกิดพื้นที่นำร่องเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะย่านนิมมานเหมินท์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการท่องเที่ยวในรูปแบบ New Normal ในอนาคต ซึ่งจะเป็นส่วนสนับสนุนให้เม็ดเงินหมุนเวียนด้านเศรษฐกิจใหม่ด้านดิจิตอลในพื้นที่มากกว่า 5,000 ล้านบาท

  9. การสนับสนุนให้เกิดการประชุมและแสดงสินค้า หรือ MICE City เพื่อให้เกิดการประชุม สัมมนาในระดับประเทศในพื้นที่ รวมถึงการผลักดันด้านการบริหารจัดการธุรกิจด้านการจัดการประชุมและแสดงสินค้าครบวงจรในลักษณะ Chiang Mai Mice Bureau เพื่อให้เกิดกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านธุรกิจไมซ์ในอนาคตต่อไป โดยมูลค่าธุรกิจในเชียงใหม่ประมาณ 5,000 ล้านบาท

  10. การส่งเสริมเศรษฐกิจบ้านพี่เมืองน้อง (Sister City) ที่จะสานต่อความร่วมมือในอนาคต หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง โดยหอการค้าฯจะติดตามผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศตามนโยบายที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย รวมถึงทางยุโรปที่เคยมีความร่วมมือกัน อันจะเป็นการส่งออกสินค้า และการค้าขายระหว่างกันในอนาคตรวมถึงการท่องเที่ยวด้วย