การศึกษา » วิทยาลัยศิลปะ สื่อฯ มช.ลงนามบันทึกข้อตกลง 2 บริษัทใหญ่ด้านซอฟต์แวร์

วิทยาลัยศิลปะ สื่อฯ มช.ลงนามบันทึกข้อตกลง 2 บริษัทใหญ่ด้านซอฟต์แวร์

22 สิงหาคม 2020
1175   0

Spread the love

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างวิทยาลัยศิลปะ สื่อฯ และบริษัทชั้นนำทางด้านซอฟต์แวร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร. วรวิชญ์  จันทร์ฉาย คณบดี วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมมือกับบริษัท สยามชำนาญกิจ จำกัด นำโดย คุณประธาน ด่านสกุลเจริญกิจ และบริษัท อาร์ติซาน เบรน จำกัด คุณปิติ จำปีทอง เพื่อการสร้างหลักสูตรและดำเนินการสอนร่วมกันการพัฒนาคุณภาพของหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี

วันที่ 22 สิงหาคม 2563 วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้จัดกิจกรรมการอบรมหลักสูตรโครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Reskill/Upskill/Newskill) ร่วมกัน โดยวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารจัดการซอฟต์แวร์ด้วยวิธีอไจล์จากบริษัทสยามชำนาญกิจจำกัด จำนวน 4 ท่าน คือ คุณพฤทธิ์ อุดมพฤกษ์, คุณสมเกียรติ ปุ๋ยสูงเนิน ,คุณธวัชชัย จงสุวรรณไพศาล และคุณประธาน ด่านสกุลเจริญกิจ ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดการบริหารอบรมทางด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์มายาวนาน เพื่อพัฒนาทักษะในการทดสอบระบบซอฟต์แวร์ทั้งในด้านการออกแบบ และการใช้เครื่องมือ และพัฒนาทักษะการบริหารการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้วยเทคนิคการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ขับเคลื่อนด้วยการทดสอบ เพื่อนำไปปรับใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์แก่กลุ่มเป้าหมาย คือในบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เข้าร่วมโครงการอันประกอบด้วยบริษัท แอดอีซี่ จำกัด บริษัท OneDee บริษัท Artisan Digitalและบริษัท เอแวลลู จำกัด และพนักงานหรือนักศึกษาที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาที่มีความสนใจในวิชาชีพนักทดสอบซอฟต์แวร์ จำนวน 30 คน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร. วรวิชญ์  จันทร์ฉาย คณบดี วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยีกล่าวเพิ่มเติมว่า สืบเนื่องจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลให้มีข้อกำหนดต่างๆ ในการดำรงชีวิตในรูปแบบใหม่ (New Normal) รวมทั้งมีการให้ประชาชนลดการเดินทาง มีการทำงานที่บ้าน (Work from home) และมีการให้บริการต่างๆ ผ่านแอพพลิเคชันต่างๆ ที่เริ่มมีการให้บริการทั้งจากทางหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและส่วนงานเอกชนต่างๆ ทำให้ในอนาคต คาดว่าจะมีความต้องการบุคลากร ที่มีความสามารถในการผลิตซอฟต์แวร์แอพพลิเคชันที่มีคุณภาพ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังต้องการบุคลากรที่สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ได้อย่างรวดเร็ว ทันเวลา อีกทั้งยังสามารถทำงานได้อย่างถูกต้องภายใต้เวลาอันสั้น

การทดสอบซอฟต์แวร์ ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งที่ใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยเป็นส่วนที่ช่วยในการตรวจสอบคุณภาพของซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นว่ามีความสามารถทำงานได้อย่างถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้ในการออกแบบการทดสอบที่เหมาะสม จะช่วยให้การพัฒนาซอฟต์แวร์ได้รับการรับรองว่าทำงานได้ถูกต้องและผู้ใช้งานจะได้ไม่พบกับปัญหาที่เกิดจากการทำงานที่ไม่ถูกต้องของซอฟต์แวร์นั้นๆ

นอกจากนี้ ในปัจจุบันได้นำการทดสอบซอฟต์แวร์มาใช้ในการควบคุมการทำงานให้ทำงานได้รวดเร็วสอดคล้องกับระยะเวลาที่กำหนด โดยใช้การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบขับเคลื่อนด้วยการทดสอบ (Test Driven Development) ซึ่งจะต้องมีการใช้เครื่องมือในการทดสอบอัตโนมัติทั้งในระดับของ  เอพีไอ (API) และในระดับของหน่วยย่อย (Unit Test) เพื่อใช้ในการควบคุมการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งการใช้เครื่องมือเหล่านี้สามารถสนับสนุนการทำงานที่บ้านได้อย่างมีคุณภาพ อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบการทำงานของบุคลากรได้อย่างอัตโนมัติอีกด้วย

ดังนั้น ในโครงการนี้จึงจัดอบรมเรื่องการทดสอบซอฟต์แวร์เบื้องต้น และการประยุกต์ใช้  การทดสอบซอฟต์แวร์ในระดับหน่วย และระดับเอพีไอ เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านทดสอบซอฟต์แวร์เบื้องต้น และการนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบขับเคลื่อนด้วยการทดสอบ ทั้งในระดับของหน่วยย่อย และในระดับของเอพีไอ เพื่อสามารถพัฒนาตนเองเป็นผู้ทดสอบซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพได้

อีกทั้งในโครงการนี้ยังได้รับการร้องขอจากบริษัทซอฟต์แวร์ในเขตจังหวัดเชียงใหม่เพื่อให้จัดการอบรมในหัวข้อดังกล่าว เพื่อใช้ในการพัฒนาบุคลากรภายในบริษัทของตนได้ตรียมความพร้อม ในการรองรับความต้องการของหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการผลิตซอฟต์แวร์มากขึ้น เพื่อให้ซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพสามารถนำมาใช้ได้ในภาวะวิกฤติเช่นนี้และสามารถนำมาใช้ได้ต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้เนื้อหาที่ศึกษาเป็นเนื้อหาที่สอดคล้องกับกระบวนวิชาการทดสอบซอฟต์แวร์ ในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ของวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นช่องทางเปิดโอกาสให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถเทียบโอนหน่วยกิตในกระบวนวิชาของสาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ระดับปริญญาโท เข้าในโครงการธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) โดยผู้เรียนได้เก็บข้อมูลการเรียนของตนเองไว้ เมื่อผู้เรียน ได้ผ่านการคัดเลือกจากมหาวิทยาลัยเข้ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาขั้นถัดไป สามารถนำข้อมูลในการเรียนมายื่นขอเทียบโอนเป็นวิชาในหลักสูตรปริญญาได้ตามเงื่อนไขการอบรมหรือคอร์สเรียนที่ผู้เรียนได้ลงทะเบียนไว้ โดยในโครงการนี้ได้แบ่งการอบรมออกเป็น 3 ครั้งได้แก่ ครั้งที่ 1 อบรมในหัวข้อการออกแบบการทดสอบ (Software Testing Design Techniques) ระหว่างวันที่ 22-23 สิงหาคม 63 ครั้งที่ 2 อบรมในหัวข้อการทดสอบ API แบบอัตโนมติ (API Automation Testing) ภายในเดือนตุลาคม 2563 และครั้งที่ 3 อบรมในหัวข้อการขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยการทดสอบ Unit Testing ด้วยภาษาจาวา  (Test-Driven Development with Java) ภายในปี 2564 ซึ่งคาดว่าผู้เข้าอบรมจะออกแบบการทดสอบที่เหมาะสมกับงานของตนเองได้ รวมทั้งสามารถใช้เครื่องมือในการทดสอบทั้งในการทดสอบระดับหน่วย และการทดสอบ  เอพีไอได้