สุขภาพ » งามทุ่งสวรรค์งาม ทั้งคนและช้างร่วมกันทำนาบ้านโต้งหลวง ปางช้างแม่สา ปลูกวันแม่ เกี่ยววันพ่อ

งามทุ่งสวรรค์งาม ทั้งคนและช้างร่วมกันทำนาบ้านโต้งหลวง ปางช้างแม่สา ปลูกวันแม่ เกี่ยววันพ่อ

12 สิงหาคม 2020
1118   0

Spread the love

สายลมโชยผ่าน ทุ่งสวรรค์งามดอยสวย ฟ้าใสที่่ บ้านโต้งหลวงชมช้างย่ำทำนา เหล่าไฮโซล้านนาเชียงใหม่ลุยโคลนปลูกข้าวเลี้ยงช้าง

บนผืนนากลางหุบเขาในพื้นที่ของบ้านโต้งหลวง ในพื้นที่ปางช้างแม่สา หมู่ 9 ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ที่อากาศกำลังเย็นสบาย ดอยเขียวฤดูฝนดูขจีเย็นตา ท้องนาน้ำเจิ่งนอง เหล่าบรรดาช้างที่ปลดโซ่ไร้ตะขอ มายืนเรียงรายที่ใกล้ทุ่งนาเพื่อเตรียมตัวจะช่วยลงเหยียบผืนนา เพื่อร่วมดำนาปลูกข้าว เพื่อรับวันแม่ที่จะมาถึง และเหล่าบรรดาชนเผ่าปะหล่อง หรือดาราอั้ง ที่แต่งกายในชุดชนเผ่าที่เตรียมจะลงปลูกนา ยืนเรียงรายบนคันนา

และวันนี้ดูคึกคักเป็นพิเศษ เมื่อบรรดานักท่องเที่ยวที่จะมาร่วมปลูกนา ในครั้งนี้ไม่ธรรมดาเสียแล้ว แต่ละท่านสุภาพสตรีเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงของเชียงใหม่ในทุกวงการ หรือจะเรียกว่ากลุ่มไฮโซล้านนาก็สามารถเรียกได้เต็มปาก ทุกท่านมาในชุดชาวนา เสื้อม่อฮ่อม กางเกงสะดอสีน้ำเงิน นำโดยคุณกนกพร พรรณเทวี ภริยาท่านรองวิรุฬ พรรณเทวี รอง ผวจ.เชียงใหม่ทุกท่านดูมุ่งมั่นโดยเฉพาะทราบว่าการลงนาปลูกข้าวในครั้งนี้ ทำในวันแม่ และยังปลูกเพื่อนำข้าวไปเลี้ยงช้างจำนวน ถึง 78 เชือกของปางช้างแม่สา ในช่วงกระแสไวรัสโควิด 19 รายได้ของปางช้างแม่สาเป็นศูนย์

โดยการปลูกข้าวเลี้ยงช้างในวันนี้มีช้างมาร่วมในการปลูกนาโดยเดินในนาเพื่อให้ดินผู้มาปลูกข้าวได้ร่วมกันปลูกท่ามกลางธรรมชาติที่งดงาม มา เมื่อช้างลงย่ำนาแล้ว ทางคุณอัญชลี กัลป์มาพิจิตร กรรมการผู้จัดการปางช้างแม่สา ได้นำภาพของนายชูชาติ กัลมาพิจิตร ผู้ก่อตั้งปางช้างแม่สา ผู้เป็นบิดาที่ล่วงลับไปแล้ว มาตั้งไว้บนเนินดินที่จัดเตรียมแถลงข่าวให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ในการดำนาปลูกข้าว โดยได้เล่าถึงผลกระทบของช้างคลาญช้างและพนักงานในปางช้างแม่สา ที่ได้รับ ผลกระทบด้านการท่องเที่ยวจากวิกฤตโรคระบาดโควิด 19 ที่ทำให้ต้องหยุดให้บริการนานเกือบ 4 เดือน

แม้วันนี้จะกลับมาเปิดการท่องเที่ยวได้อีกครั้ง แต่รูปแบบก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามวิถีใหม่ ทุกวันนี้ปางช้างมีนักท่องเที่ยวในวันจันทร์ถึงศุกร์วันละประมาณ 100 คน ส่วนวันหยุดสุดสัปดาห์หรือหยุดยาวจะมีเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 300-400 คน แต่ก็ถือว่าลดลงไปมากหากเทียบกับช่วงเวลาปกติ รายได้ที่ลดลงทำให้ปางช้างต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบหลายอย่าง

สำหรับบริเวณพื้นที่บ้านโต้งหลวง ด้านหลังปางช้างแม่สา ที่ก่อนหน้านี้เปิดให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตชนเผ่า แต่วันนี้ต้องเปลี่ยนรูปแบบ ให้พี่น้องชนเผ่ามาช่วยกันปลูกข้าว ปลูกผัก และ ทำปศุสัตว์เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ สร้างคลังอาหารเลี้ยงตัวเอง โดยจะให้พนักงานของปางช้างมาช่วยในวันจันทร์ถึงศุกร์ที่มีนักท่องเที่ยวน้อย

ขณะที่อาหารสำหรับเลี้ยงช้างที่มีอยู่ประมาณ 80 เชือก จะเลี้ยงด้วยหญ้าวันละ 15 ตัน เสริมด้วยกล้วย ออ้อย และ ข้าวเหนียวนึ่งผสมเกลือปั้นเป็นก้อนให้ช้างกิน โดยแต่ละวันจะใช้ข้าวเหนียววันละ 1 กระสอบ คาดว่าข้าวที่ปลูกเอง จะได้ข้าวเปลือก 300 กระสอบ เมื่อสีแล้วจะได้ข้าวสาร 100 กระสอบ สามารถเลี้ยงช้างได้ประมาณ 100 วัน หรือประมาณ 3 เดือน จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ประมาณ 1.1 แสนบาท

คุณอัญชลี บอกว่า สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปทำให้ปางช้างต้องปรับทิศทาง ต้องหันมาทำอย่างอื่นด้วย อย่างเช่นทำเกษตรเลี้ยงช้าง ตามรอยเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเลี้ยงตัวเองและหารายได้เสริม คิดว่าตอนนี้มาถูกทางแล้ว เราต้องยอมรับความจริง เพราะหากจะหวังแต่รายได้จากการท่องเที่ยวคงไม่ได้อีกต่อไป

หลังจากที่ได้เล่าถึงความเป็นมาจนมาถึงงานวันนี้งานดำนาปลูกข้าวในวันแม่ และจะไปเกี่ยวในวันพ่อ จึงเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันในหลายๆฝ่าย ตั้งแต่กลุ่มนักท่องเที่ยว กลุ่มผู้มีชื่อเสียงในทุกอาชีพของเชียงใหม่รวมทั้งพนักงาน ควาญช้างและชนเผ่าดาราอั้ง หรือชนเผ่าปะหล่อง ได้มาร่วมกันในการดำนาปลูกข้าวเพื่อช่วยเลี้ยงช้างและให้ผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน

เมื่อทราบถึงวัตถุประสงค์การจัดงานดำนาปลูกข้าว แล้วการปลูกข้าวท่ามการบรรยากาศที่สุดงดงาม ท่ามกลางดอบสวย ฟ้างามและนาแบบขั้นบันไดที่มีเหล่าช้างน้อยใหญ่มาร่วม และเหล่าบรรดาไฮโซล้านนาทที่พร้อมใจเดินลุยโคลนดำนาปลูกข้าวได้ทั้งความรู้ของวิถีชีวิตชาวนา ได้ทั้งความสนุกสนาน ได้ลิ้มรสกับความงดงามทางธรรมชาติ ที่หาชมได้ยากยิ่ง สมกับคำว่า ทุ่งท้องนาเป็นแดนสวรรค์ มองทางไหนก็มีแต่น้ำใจของทุกคนที่มาร่วมกันในวันนี้ ปลูกวันแม่ เกี่ยววันพ่อ ตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง และรู้คุณค่าที่ว่า” ข้าวเม็ดเดียวมีค่าเท่ากับชีวิต” เป็นวิถีชีวิตที่ลืมไม่ลงที่บ้านโต้งหลวง แห่งนี้