สุขภาพ » สภาลมหายใจเชียงใหม่ เดินหน้าหาวิธีแก้ปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ

สภาลมหายใจเชียงใหม่ เดินหน้าหาวิธีแก้ปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ

16 ตุลาคม 2019
642   0

Spread the love

สภาลมหายใจเชียงใหม่ เดินหน้าหาวิธีแก้ปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ ผุดไอเดียร่วมเคลื่อนเชียงใหม่สู้ฝุ่น กำหนด Car free day รณรงค์ใช้รถสาธารณะ ดันเตาไบโอชาร์ในภาคครัวเรือน ผสานพลัง 8 มหาวิทยาลัย และ 7 สถาบันการศึกษาร่วมรณรงค์ พร้อมเตรียมตั้งกองทุนลมหายใจเชียงใหม่ ตั้งหลักไม่โทษกันไปมา เพราะทุกคนมีส่วนทำให้เกิดฝุ่นและรับผลกระทบ

จากที่ สภาลมหายใจเชียงใหม่ได้จัดเวทีสภาลมหายใจเชียงใหม่ ภาคเมือง ครั้งที่ 1 ที่ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้ประกอบการ ตัวแทนโรงเรียน มหาวิทยาลัย เยาวชน องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในภาคเมืองเข้าร่วม นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ตัวแทนสภาลมหายใจเชียงใหม่ ชี้แจงเป้าหมายว่า หลังเผชิญกับปัญหาฝุ่นควันยาวนานและวิกฤตเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ภาคประชาชนในเชียงใหม่
ถอดบทเรียนพบว่า ปัญหาฝุ่นควันเชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ทั้งสภาพอากาศ สภาพแอ่งเชียงใหม่ ลำพูน รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมของประชาชนทุกส่วน เราทุกคนมีส่วนของการทำให้เกิดฝุ่นควันและได้รับผลกระทบ จึงพยายามตั้งหลักที่จะไม่โทษกันไปมา ไม่สร้างความขัดแย้ง และใช้ปัญญาสร้างสรรค์ โดยได้สร้างความเข้าใจและความร่วมมือกับกลไกราชการ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาหลายแห่ง และร่วมทำงานกับ
ภาคชนบท เชื่อมกับสภาองค์กรชุมชน 207 ตำบล ซึ่งปีนี้กำหนดจะมี 32 ตำบล เป็นโมเดลนำร่องแก้ปัญหา
ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทำแผน ผลักดันการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวกับโครงการเขียวสู้ฝุ่นในช่วงฝนที่ผ่านมา ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์แนวคิด ที่จะมีกิจกรรมและการทำงานร่วมกันหลากหลาย ซึ่ง ดร.เขมกร ไชยประสิทธ์ รองคณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และตัวแทนสภาเมืองสีเขียว เสนอว่า จากบทเรียนการขับเคลื่อนสวนเจริญประเทศ คิดว่าพลังของภาคประชาชนมีความสำคัญมาก พร้อมกับการสื่อสารออนไลน์ที่จะดึงพลังร่วม และรณรงค์ให้เกิดการขับเคลื่อนพร้อมกันได้
นอกจากนี้พลังของเยาวชนเป็นพลังสำคัญ โดยจะประสานกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำประเด็นฝุ่นควันให้เป็นประเด็นที่กิจกรรมนักศึกษาในคณะต่างๆ บูรณาการทำในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแต่ละคณะ เชื่อว่าจะเป็นพลังสำคัญในการรณรงค์ได้
นอกจากนี้ ยังมีความเห็นของผู้เข้าร่วมประชุม ที่เสนอให้คนในเมืองที่ใช้รถส่วนตัวมาก กำหนดให้มี Car free day เพื่อหันมาเดินหรือใช้รถจักรยาน รวมทั้งมีแนวคิดอยากให้มีกิจกรรมที่ให้คนในเมืองร่วมมือร่วมใจ ตระหนักรู้ด้านฝุ่น และเป็นโอกาสให้ภาคเมืองและชนบทมาพบกัน ลักษณะเทศกาล หรือ Expo ตลาดวิชาการที่มหาวิทยาลัยเอานวัตกรรมมาให้ภาคประชาชน ภาคชนบท หรือภาคป่า เลือกว่าสอดคล้องกับวิถี สำหรับภาคครัวเรือนในอำเภอรอบนอก ยังคงมีบางพื้นที่ใช้ฟืนอยู่ แต่ปัจจุบันมีนวัตกรรมที่สามารถร่วมลดควันได้ คือเตาพลังงานลดควัน หรือ เตาไบโอชาร์ โดยมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จะดำเนินงานในชุมชนพื้นที่อำเภอแม่แตง อำเภอหางดง อำเภอเมือง และอำเภอแม่ริม

ขณะที่ ผู้ประกอบการด้านอาหารออแกร์นิคเสนอให้มีกองทุนเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ โดยรณรงค์ให้ตระหนักว่าทุกคนมีส่วนสร้างฝุ่นควันและควรเก็บเงินเจ้าของรถยนต์และจักรยานยนต์ส่วนหนึ่ง เพื่อสนับสนุนกองทุนในการรณรงค์ หรือให้มีการใช้รถจักรยาน ด้านนายกสมาคมนักเรียนเก่าปรินส์รอยแยลส์ วิทยาลัยเชียงใหม่ ตัวแทนสมาพันธ์สมาคมนักเรียนเก่า 7 สถาบัน เชียงใหม่ จะร่วมรณรงค์ลดฝุ่นพิษ โดยจัดทำสติกเกอร์ Line และ สื่อดิจิตัล สำหรับโพสต์และแชร์ FB IG Line กลุ่ม เช่น ละอ่อนปรินส์บ่เอารถควันดำ ละอ่อนมงฟอร์ตบ่เอาฝุ่นควัน บ่าวยุพราชบ่เผาขี้เหยื้อ สาวเรยีนาบ่ก่อมลพิษ สาวดาราชอบใช้รถถีบ สาววัฒโนใช้รถประจำทาง และสาวพระหฤทัยชอบเตียวตามตาง ฯลฯ
ขณะที่ ผู้อำนวยการวายเอ็มซีเอเพื่อการพัฒนาภาคเหนือ เสนอการทำงานกับเยาวชน ที่สามารถจัดทำลักษณะการประกวดผลิตคลิปวีดิโอ ให้ความรู้ PM 2.5 แนวทางการป้องกัน และขอความร่วมมือผู้ปกครองนักเรียนในเชียงใหม่ ในการรับส่งบุตรหลานให้จอดรถดับเครื่องยนต์ เพื่อไม่ให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น รวมถึงรถทัวร์หรือรถท่องเที่ยวที่จอดติดเครื่องรอนักท่องเที่ยว สามารถรณรงค์ชวนหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวให้มาทำความเข้าใจร่วมกัน นอกจากนี้ ประธานกรรมาธิการสถาปนิกผังเมืองล้านนา สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย ได้ร่วมมือกับกรรมาธิการสถาปนิกผังเมืองล้านนา ร่วมสร้างเสริมการเดินเท้าเพื่อลดการใช้ยานพาหนะที่ก่อมลพิษ ในโครงการ “เมืองเดินได้ เมืองเดินดี” โดยได้หารือกับสำนักการช่างเทศบาลนครเชียงใหม่ แก้ปัญหากายภาพของเมือง เพื่อให้สามารถเดินเท้าได้ โดยจะทำทางเท้าต้นแบบ เส้นทางเชิงสะพานนวรัฐ ถนน
ท่าแพ ถนนราชดำเนิน วัดพระสิงห์

ด้าน นายอุดม อินทร์จันทร์ ตัวแทนขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือ กล่าวว่า พื้นที่ป่า พื้นที่ราบ และพื้นที่ผสม แต่ละพื้นที่มีโจทย์แตกต่างกัน เช่น พื้นที่ในเขตป่ามีข้อติดขัดเรื่องกฎหมายและนโยบายของรัฐ พื้นที่อำเภอรอบนอกในเขตชลประทานมีการทำนาปีละ 2 ครั้ง พื้นที่ราบต้องการเครื่องจักรอัดฟางเพื่อลดการเผา แต่เครื่องจักรราคาสูง องค์การบริหารส่วนตำบลอยากซื้อไว้เพื่อลดการเผา แต่ติดขัดระเบียบ ชุมชนได้พยายามคิดหาแนวทางแก้ไข ขณะที่ สภาพลเมืองเชียงใหม่เริ่มลงรายละเอียดในแผนงาน เช่น บางตำบลต้องการเปลี่ยนอาชีพเป็นการเพาะผักหวาน ต้องการจัดการเศษวัสดุฟางข้าว และเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ สิ่งเหล่านี้สามารถระดมทุนจากภาคเอกชนในพื้นที่เพื่อการช่วยเหลือกันและกันได้ หรือแม้แต่กับการซื้อหน้ากากอนามัยให้ประชาชน ซึ่งหากเชื่อมกับหน่วยงานรัฐ ก็น่าจะได้หน้ากากมาตรฐานในราคาประหยัดเพื่อประชาชนได้ ในส่วนของหัวหน้าโครงการหมอกควันย่อย 1 สถาบันนโยบายสาธารณะ ระบุ ฝุ่นควันสัมพันธ์กับเรื่องปากท้อง และการศึกษาได้เห็นทางออกหลายวิธี แนวทางสำคัญคือลำพังภาครัฐฝ่ายเดียวจะขับเคลื่อนไม่ได้ ต้องรวมพลัง ภาคประชาสังคม ภาคประชาชนต้องช่วยรัฐด้วย เรื่องปากท้องสัมพันธ์กับอาชีพซึ่งหลายพื้นที่พร้อมเปลี่ยน แต่สัมพันธ์กับเรื่องการตลาด และหนี้ ซึ่งได้ประสานกับเครื่องมือต่างๆ ของรัฐในการแก้หนี้ และเข้าไปเรียนรู้โจทย์ระดับพื้นที่ที่มีปัญหาเฉพาะเพื่อร่วมกันแก้ไขอย่างยั่งยืน
นายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้ยกระดับเรื่องนี้เป็นปัญหาระดับชาติ ที่ผ่านมาจังหวัดได้พยายามทำงานร่วมกับภาคประชาชน โดยมีการทบทวนแผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ใหม่ กำหนดให้การแก้ปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 และการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน มีการถอดบทเรียนทุกหน่วยงาน และพัฒนามาเป็น 4 มาตรการ 37 กลยุทธ์ ที่เน้นป้องกันเพิ่มเติม ระดับบุคคล หน้ากาก เครื่องกรองอากาศ และด้านสาธารณสุข ก็ขับเคลื่อนตั้งห้องปลอดภัยจากฝุ่นควัน ในโรงเรียน และโรงพยาบาล ด้านศึกษาธิการจัดทำหลักสูตรต้านฝุ่นในระดับประถมศึกษาด้วย
นอกจากนี้ ในการประชุมร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดพื้นที่เผาไหม้ เป็นหัวใจสำคัญ โดยกำหนดวันที่ 10 มีนาคม – 30 เมษายน ไม่มีจุดความร้อน และในพื้นที่เกษตรจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการปลูกพืชไม่ให้ใช้วิธีเผาในพื้นที่ภายใน 3 ปี ซึ่ง นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันร่วมกับประชาชน โดยยินดีที่จะสนับสนุนงานของสภาลมหายใจเชียงใหม่ โดยเฉพาะการจัดมหกรรมคนเชียงใหม่สู้ภัยฝุ่น ที่กำหนดเวลาที่เหมาะสมคือประมาณเดือนมกราคม 2563 ที่จะเป็นกิจกรรมลักษณะนิทรรศการ การเวิร์คช็อปชุมชนชาวบ้านที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตเพื่อให้ปลอดฝุ่นควัน และสนับสนุนการแบรนดิ้งสินค้าเพื่อภาคเมืองเชื่อมภาคชนบท ที่ กลุ่ม กกร.และหอการค้าเป็นแกนประสานดำเนินการร่วมกับสภาลมหายใจเชียงใหม่

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีข้อตกลงร่วมกันภายใต้แนวคิด “เชียงใหม่ลมหายใจเดียวกัน” คือทุกคนมีส่วนสร้างและได้รับผลจากฝุ่นควัน ดังนั้นก่อนจะถึงวิกฤตฝุ่นควันปีนี้ ภาคเมืองจะเริ่มรณรงค์โดย
1. กำหนดให้เริ่มมี Car free day หยุดการใช้รถในเขตสี่เหลี่ยมคูเมือง หันมาใช้รถจักรยาน ระบบขนส่งสาธารณะ โดยมีกิจกรรมรณรงค์ ดนตรีในรถสาธารณะ ดนตรีในสวนลดฝุ่นควัน
2. เริ่มดำเนินการเตาพลังงานลดควัน หรือ เตาไบโอชาร์ โดยมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ดำเนินงานในชุมชนพื้นที่ อำเภอแม่แตง หางดง แม่ริม แม่แตง และอำเภอเมือง
3. ประสานความร่วมมือนักศึกษา 8 มหาวิทยาลัย สมาพันธ์สมาคมนักเรียนเก่า 7 สถาบัน เชียงใหม่(ปรินส์รอยแยลส์, มงฟอร์ต, ยุพราช, ดารา, วัฒโน, เรยีนา, พระหฤทัย) ในการรณรงค์สร้างความเข้าใจและ
ลดสาเหตุฝุ่นควันภาคเมือง เริ่มเดือนพฤศจิกายน 2562
4. จัดกิจกรรม Expo สู้ฝุ่นควัน วันที่ 24-26 มกราคม 2563 ร่วมกันทั้งจังหวัด โดยจะมีนวัตกรรมจากหน่วยงานราชการ สถาบันวิชาการที่มีการวิจัยต่างๆ จัดแสดงนวัตกรรมต่างๆ และให้ภาคประชาชน เกษตรกร จาก 210 ตำบล หรือคนในเมือง ได้มาช็อปปิ้งไอเดียแก้ฝุ่นควัน และนำไปปรับกับแผนที่ตอบโจทย์พื้นที่
การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน รวมพลังแก้ปัญหา และไม่โทษกันไปมา คาดว่าภายใน 3 ปี จะสามารถแก้โจทย์นี้และเห็นความหวังที่จะทำให้อากาศสะอาดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ได้