เศรษฐกิจ » มหกรรมผ้าตีนจกและผลิตภัณฑ์ชนเผ่าแม่แจ่ม ครั้งที่ 27 ประจำปี 2563

มหกรรมผ้าตีนจกและผลิตภัณฑ์ชนเผ่าแม่แจ่ม ครั้งที่ 27 ประจำปี 2563

25 มกราคม 2020
1271   0

Spread the love

อำเภอแม่แจ่มพร้อมจัดงานมหกรรมผ้าตีนจกและผลิตภัณฑ์ชนเผ่าแม่แจ่ม ครั้งที่ 27 ประจำปี 2563


อำเภอแม่แจ่ม พร้อมจัดงานมหกรรมผ้าตีนจกและผลิตภัณฑ์ชนเผ่าแม่แจ่ม ครั้งที่ 27 ประจำปี 2563 อย่างยิ่งใหญ่ ระหว่างวันที่ 6 -10 กุมภาพันธ์ 2563 โดยจะนำผ้าตีนจกที่หาดูได้ยากมาอวดโฉมให้แก่นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อกันอย่างมากมาย


นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ นายอำเภอแม่แจ่ม เปิดเผยว่า อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ กำหนดจัดงานมหกรรมผ้าตีนจกและผลิตภัณฑ์ชนเผ่าแม่แจ่ม ประจำปี 2563 ระหว่างวันที่ 6 – 10 กุมภาพันธ์ 2563 ณ บริเวณที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของอำเภอแม่แจ่ม และสืบทอดศิลปะ มรดกทางวัฒนธรรมล้านนา อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่โดดเด่น แหล่งกำเนิดของผ้าตีนจก (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GI)) ของอำเภอแม่แจ่ม และผ้าทอชนเผ่า ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษนับร้อยปี

รวมทั้งเป็นการส่งเสริมอาชีพของประชาชนให้มีรายได้สูงขึ้น และส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอแม่แจ่มให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ตามคำขวัญของอำเภอแม่แจ่ม “เที่ยวบ่อน้ำแร่ ล่องแพแม่แจ่ม พักแรมน้ำตก ผ้าตีนจกยอดน้ำมือ”

สำหรับผ้าตีนจกแบบดั้งเดิมของอำเภอแม่แจ่มนั้น สืบสายสกุลมาจากกลุ่มไทยวน ที่นิยมใช้ฝ้ายย้อมสีธรรมชาติสำหรับการจกลวดลาย โดยใช้ด้ายเส้นยืนสีดำเป็นพื้นที่สำหรับลวดลายจก ส่วนเส้นยืนสีแดงใช้เป็นพื้นที่สำหรับเล็บ (ช่วงล่างสุด) ของตีนจก จะไม่มีลวดลายจก ยกเว้นลวดลาย เป็นเส้นเล็กๆ สีขาวดำ เรียกว่า “หางสะเปา” การทอจก แบบดั้งเดิมของชาวอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ จะทำการทอโดยให้ด้านหลังของจกอยู่ด้านบน


“ผ้าซิ่นจก (ตีนจก) มีความละเอียดปราณีต ลวดลายอ่อนช้อย มีความหมายในตัวเอง ความประณีตของลวดลายเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้มีอารมณ์เยือกเย็นสุขุมมีกฎเกณฑ์ บางผืนอาจซ่อนเร้นเรื่องราวและเนื้อหาที่สามารถเล่าขานถึงความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชน การตั้งถิ่นฐาน เชื้อชาติ สภาพภูมิศาสตร์ ความเชื่อ ประเพณี”


ปัจจุบัน ชุมชนแม่แจ่มส่วนใหญ่ ยังคงนิยมทอและใช้ผ้าทอที่ทำขึ้นในท้องถิ่น เช่น เสื้อผ้า สะลีหรือที่นอน หมอน ผ้าต้วบหรือผ้าห่ม ซิ่นหรือผ้าถุงแบบต่างๆ ได้แก่ ซิ่นหอมอ้วน ซิ่นตาล่อง ซิ่นแอ้ม ซิ่นตาตอบ ซิ่นลัวะ ซิ่นยาง ตลอดจนซิ่นตีนจก ซึ่งเป็นการทอเพื่อนำมาต่อกับผ้าถุงหรือที่ชาวบ้านภาคเหนือ เรียกว่า “ซิ่น” นอกจากนี้ ยังมีผ้าที่ใช้เทคนิคการจกในการตกแต่งลวดลาย ได้แก่ ผ้าเช็ด ผ้าพาด ผ้าหลบ (ผ้าปูที่นอน) และหน้าหมอนจก เป็นต้น


สำหรับการจัดงานครั้งนี้ มีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ นิทรรศการกระบวนการผลิตผ้าตีนจก การออกร้านจำหน่ายสินค้าผ้าตีนจก ผลิตภัณฑ์โอทอป ผลิตภัณฑ์ชนเผ่า กาดมั้วคัวฮอม กิจกรรมการประกวดการแข่งขันต่างๆ เช่น การประกวดไก่สวยงาม การแข่งขันมวยทะเล การแสดงดนตรี การแข่งขันกีฬาเปตอง และการแข่งขันล่องแพน้ำแจ่ม เป็นต้น และการจัดกิจกรรมสืบสานภูมิปัญญาของแม่แจ่มอีกมากมาย พร้อมทั้งจุดถ่ายภาพ Check in เพื่อเก็บความประทับใจที่สวยงามให้แก่นักท่องเที่ยวและผู้ที่มาร่วมงานทุกท่าน


จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มาร่วมงานมหกรรมผ้าตีนจกและผลิตภัณฑ์ชนเผ่าแม่แจ่ม ครั้งที่ 27 ประจำปี 2563 อย่างยิ่งใหญ่ ระหว่างวันที่ 6 -10 กุมภาพันธ์ 2563 ณ บริเวณลานหน้าที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยจะมีพิธีเปิดงานและขบวนแห่งานมหกรรมผ้าตีนจกและผลิตภัณฑ์ชนเผ่าสุดยิ่งใหญ่ ในวันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 ณ สนามโรงเรียนบ้านเนินวิทยา ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป