เศรษฐกิจ » “เทศกาล Yi Peng : Lanna Light Festival 2024”ต๋ามผางปะตี๊ด ส่องฟ้า ฮักษาเมือง ล้านนา บูชา..แสงไฟ ยกระดับเทศกาลยี่เป็งเชียงใหม่

“เทศกาล Yi Peng : Lanna Light Festival 2024”ต๋ามผางปะตี๊ด ส่องฟ้า ฮักษาเมือง ล้านนา บูชา..แสงไฟ ยกระดับเทศกาลยี่เป็งเชียงใหม่

6 พฤศจิกายน 2024
136   0

Spread the love

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ที่ห้องประชุมจองคำ โรงแรมรติล้านนา ริเวอร์ไซด์ สปา รีสอร์ท เชียงใหม่ นางพัศลินทร์ เศวตรัตน์ ผู้อำนวยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ นางศุภาดา ชัยวงศ์ ผู้แทนการตลาด สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและแสดงนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ (TCEB) ภาคเหนือ นางละเอียด บุ้งศรีทอง นายกสมาคมการค้าวิศิษฎ์ล้านนาเพื่ออุตสาหกรรมไมซ์และการท่องเที่ยว ผศ.ศรันยา เสี่ยงอารมณ์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการออกแบบเพื่อสังคม (CU Social Design Lab) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนางเสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง เครือข่ายชุมชนรักษ์เมืองเชียงใหม่ ร่วมกันแถลงข่าวการจัดเทศกาล Yi Peng : Lanna Light Festival 2024 ภายใต้บรรยากาศล้านนาที่สวยงาม

นางพัศลินทร์ เศวตรัตน์ ผู้อำนวยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ กล่าวว่า ปีนี้ ททท.สำนักงานเชียงใหม่ จับมือกับพันธมิตรและเครือข่ายหวังต่อยอดวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามเอาไว้ โดยนอกเมืองได้จับมือกับชุมชนเวียงท่ากาน อ.สันป่าตอง ในการร่วมกันสืบทอดประเพณียี่เป็งของชุมชน เป็นงานน่ารักที่จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย เพื่อกระจายรายได้ลงสู่ชุมชนผ่านการท่องเที่ยว ส่วนในตัวเมืองเชียงใหม่ยังคงมีเสน่ห์เสมอมาในแง่ความงดงามของกิจกรรมที่จัดขึ้น และคาดการณ์ไว้ว่าตั้งแต่วันที่ 13-17 พฤศจิกายน 2567 ยาว 5 วัน ซึ่งตรงกับช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ พอดี ทำให้อัตราการจองเข้าพักมากกว่า 80% และมีเวลาพำนัก 3 วัน สร้างรายได้เพิ่มขึ้น 20% หรือราว 2,000 ล้านบาท ซึ่งตลอดฤดูหนาวปีนี้การท่องเที่ยวซึ่งทำรายได้หลักให้กับเมืองเชียงใหม่จะขยับเท่ากับปี 2562 ที่ผ่านมา


เทศกาลยี่เป็งเชียงใหม่เป็นเทศกาลประจำเมืองที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์และคุณค่าของวัฒนธรรมล้านนาและจังหวัดเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี และถือเป็นเทศกาลระดับนานาชาติที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและเมืองอย่างยั่งยืนให้กับจังหวัด สอดคล้องกับนโยบาย 12 เดือน 12 เทศกาลของจังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้งยังตอบสนองต่อนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของรัฐบาลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับประเทศภายใต้ฐานอัตลักษณ์ของท้องถิ่น สมาคมการค้าวิศิษฏ์ล้านนาเพื่ออุตสาหกรรมไมซ์และการท่องเที่ยว จึงร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในการพัฒนาต่อยอดเทศกาลยี่เป็งเชียงใหม่ ภายใต้แนวคิด “ล้านนา บูชา และแสงไฟ” ผ่านการเชื่อมโยงกิจกรรมหลักทั้ง 4 ของเทศกาล พร้อมกับการส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในเทศกาล ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจร่วมฟื้นฟูเมืองหลังสถานการณ์น้ำท่วมสู่ยุทธศาสตร์การส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และกระตุ้นการมาเยือนของนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงและนักเดินทางไมซ์ ที่จะส่งผลกระทบเชิงบวกให้กับจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ต่อเนื่องในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ

ซึ่งกิจกรรมหลักทั้ง 4 ประกอบไปด้วย
1. Yi-Peng Communication ร่วมพัฒนาช่องทางการประชาสัมพันธ์กิจกรรม สินค้า และบริการสำหรับเทศกาลยี่เป็งเชียงใหม่ โดยประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์และ Website www.visitlannaassociation.com เพื่อเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์เทศกาลยี่เป็งและเทศกาลอื่น ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ข้อมูลของเทศกาลยี่เป็ง รวมถึงสินค้าและบริการท้องถิ่นไปสู่กลุ่มเป้าหมาย
2. Yi-Peng Illumination กิจกรรมต๋ามผางปะตี๊ด ส่องฟ้า ฮักษาเมือง ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมวิถีชาวล้านนา การประดับประดาไฟในพื้นที่ สาธารณะ วัด ชุมชน และคาเฟ่ และความร่วมมือกับผู้ประกอบการในพื้นที่ที่จัดทำและตกแต่งร้านค้าให้เป็นไปตามเทศกาลยี่เป็ง กระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองเชียงใหม่ในบรรยากาศยามค่ำคืนเพื่อสร้าง Night-time Economy ส่งเสริมภาพลักษณ์และบรรยากาศให้กับเทศกาลยี่เป็งในฐานะ Night-Light Festival


3. Yi-Peng Product & Service คัดเลือกและนำเสนอสินค้าและบริการพิเศษสำหรับเทศกาลยี่เป็ง ที่สอดคล้องกับแนวคิด “ล้านนา บูชา แสงไฟ” โดยร่วมมือกับผู้ประกอบการและร้านค้านำเสนอสินค้าและบริการที่สะท้อนวัฒนธรรมล้านนาและเทศกาลยี่เป็ง และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เช่น เมนูอาหาร ผลิตภัณฑ์สปา งานหัตถกรรม และร่วมจัดกิจกรรม networking เพื่อการพัฒนาเครือข่ายแบบบูรณาการในการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อส่งเสริมการขายร่วมกัน เป็นต้น
4. Yi-peng Navigator จัดทำแผนที่รวบรวมข้อมูลกิจกรรมภายในงานเพื่อสื่อสารข้อมูลให้กับผู้มาเยือนเทศกาลยี่เป็ง และจัดกิจกรรมท่องเที่ยวตามเส้นทางภายใต้แนวคิดรูปแบบการท่องเที่ยวเพื่อทำภารกิจ (mission) ภายในงานยี่เป็ง ส่งเสริมการชื่นชมบรรยากาศในสถานที่สำคัญ ใช้จ่ายตามร้านค้า ร้านอาหารที่ร่วมรายการ ภายใต้ร่วมมือกับผู้ประกอบการในพื้นที่ รวมถึงการนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในกลุ่มจังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ เพื่อเพิ่มโอกาสในการใช้งานเทศกาลช่วยกระตุ้นผลกระทบเชิงบวกในพื้นที่ภาคเหนือ

ซึ่งในปีนี้ กิจกรรม “ต๋ามผางปะตี๊ด ส่องฟ้า ฮักษาเมือง” ระหว่างวันที่ 13 – 15 พฤศจิกายน จะเป็นกิจกรรมแรกของเมือง ภายใต้การทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่ายภายใต้แกนนำอย่างเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ ผู้เป็นส่วนสำคัญในการจัดทำกิจกรรมนี้สืบทอดกันมาเป็นเวลาเกือบ 10 กว่าปี กิจกรรมในปีนี้ จะส่งเสริมการจุดผางประทีปแทนการปล่อยโคมลอยในตัวเมืองเชียงใหม่เพื่อสืบสานประเพณีชาวล้านนาและส่งเสริมการสร้างความร่วมมือร่วมใจกัน ภายใต้แนวคิด “ล้านนา บูชา และแสงไฟ” เพื่อใช้เทศกาลยี่เป็งในปีนี้เป็นโอกาสสำคัญในการฟื้นฟูเมืองเพื่อการเริ่มต้นใหม่ของชาวล้านนาภายหลังอุทกภัย

โดยกิจกรรมนี้ เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ พันธมิตร สถาบันการศึกษาเทคนิค และอาชีวะ สสส. สคล. สมาคมการค้าวิศิษฏ์ล้านนาเพื่ออุตสาหกรรมไมซ์และการท่องเที่ยว สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) รวมทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และแกร็บ ได้ตั้งใจร่วมกันว่ากิจกรรมนี้ จะเป็นจุดสำคัญในการร่วมกันเล่าเรื่องและร้อยเรียงเรื่องราวกิจกรรมที่มีรากฐานทางประวัติศาสตร์ และเชิญชวนทุกคนมาร่วมกันสร้างบรรยากาศของการประดับประดาแสงไฟเพื่อการบูชาตามวิถีของชาวล้านนาในงานเทศกาลประเพณีประจำเมือง ที่จะช่วยส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ถึงความพร้อมของพื้นที่ในการต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยือนผ่านเทศกาล Yi Peng Lanna Light festival 2024 เพื่อที่งานเทศกาลยี่เป็งในปีนี้จะเป็นเทศกาลสำคัญที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่รวมถึงพื้นที่ต่อเนื่องในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ในช่วงของประเพณียี่เป็งเชียงใหม่มากยิ่งขึ้น