สุขภาพ » แพทย์ มช. เตือนประชาชน ระวังโรคไข้เลือดออกระบาดช่วงหน้าฝน

แพทย์ มช. เตือนประชาชน ระวังโรคไข้เลือดออกระบาดช่วงหน้าฝน

13 กันยายน 2024
182   0

Spread the love

แพทย์ มช.ห่วงประชาชน ให้เฝ้าระวังยุงลายนำเชื้อไวรัสเดงกีก่อโรคไข้เลือดออก ระบาดช่วงหน้าฝน ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสชนิดนี้ ย้ำให้ทุกครอบครัวป้องกันตนเอง กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และฉีดวัคซีนป้องกันโรคหากไม่มีข้อห้ามฝ

รศ.ดร.พญ.ทวิติยา สุจริตรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้โดยตรง ต้องอาศัยยุงเป็นพาหะนำโรค ซึ่งยุงที่นำโรคไข้เลือดออก คือ ยุงลาย สำหรับประเทศไทยจะมี 2 ชนิด คือ ยุงลายบ้านและยุงลายสวน โดยผู้ที่ถูกยุงกัดจะไม่มีอาการเกิดขึ้นทันที จะต้องอาศัยระยะฟักตัว ซึ่งโดยทั่วไปจะมีระยะเวลาประมาณ 7-10 วัน โดยที่ระยะการป่วยของโรคไข้เลือดออกจะแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะแรก คือระยะที่ผู้ป่วยเริ่มมีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป ซึ่งนอกจากมีอาการไข้แล้วผู้ป่วยจะมีอาการอื่นๆร่วมด้วยไม่ว่าจะเป็นอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ บางรายอาจมีปวดท้องบริเวณขวาบน ซึ่งเป็นตำแหน่งของตับ เนื่องจากผู้ป่วยไข้เลือดออกบางรายจะมีอาการตับอักเสบร่วมด้วยได้ นอกจากนั้นจะมีอาการเลือดออกง่ายผิดปกติ จะออกตามเยื่อบุต่างๆ เช่นมาด้วยจุดเลือดออก เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหลผิดปกติ รวมถึงอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายดำร่วมด้วยได้ แต่ระยะที่มีความสำคัญของโรคไข้เลือดออก คือระยะที่ 2 ซึ่งเป็นระยะวิกฤต อันตรายถึงชีวิต แต่ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกรายจะมีระยะนี้ ระยะวิกฤตจะเป็นระยะไข้เริ่มลง มีพยาธิสภาพอย่างหนึ่งที่สำคัญของโรค คือ ผนังหลอดเลือดฝอยมีความสูญเสียการคงตัว ทำให้พลาสมาหรือสารน้ำที่ควรอยู่ในเส้นเลือดมีการไหลรั่วออกไป ในที่สุดจะทำให้ความดันโลหิตของคนไข้ลดต่ำลง และเกิดภาวะช็อกได้ นอกจากนั้นในระยะนี้ เกล็ดเลือดของผู้ป่วยมักจะลดลงจนมีระดับที่ต่ำมาก เพราะฉะนั้น บางรายอาจจะมีเลือดออกมากผิดปกติ จนเกิดภาวะช็อกหรือถึงแก่ชีวิตได้เช่นเดียวกัน หลังจากนั้นถ้าดูแลรักษาผู้ป่วยได้เหมาะสมจนสามารถผ่านพ้นระยะวิกฤตไปได้ จะเข้าสู่ระยะสุดท้ายของโรค คือระยะฟื้นตัว
ปัจจุบันโรคไข้เลือดออกยังไม่มีการรักษาหรือยาต้านไวรัสโดยเฉพาะ ดังนั้นการรักษาโดยรวมจะเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ หลีกเลี่ยงการให้ยากลุ่มที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่ายากลุ่ม NSAIDs เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน เนื่องจากอาจจะทำให้เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติได้ ประกอบกับที่ผู้ป่วยไข้เลือดออกมักมีเกล็ดเลือดต่ำอยู่แล้ว อาจยิ่งส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีเลือดออกง่ายผิดปกติ และเสียเลือดมากจนกระทั่งอาจจะช็อกหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงควรต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยาในกลุ่มนี้เป็นยาลดไข้


ปัจจุบันการป้องกันไข้เลือดออก มี 3 แนวทางหลัก ได้แก่ แนวทางที่ 1 การป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด แนวทางที่ 2 การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และแนวทางที่ 3 ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ปัจจุบันที่มีใช้อยู่ในประเทศไทยมี 2 ชนิด ชนิดแรกสามารถฉีดในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปี จนถึงผู้ใหญ่อายุ 45 ปี แนะนำให้ฉีด 3 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน และเป็นวัคซีนที่แนะนำสำหรับผู้ที่มีหลักฐานทางการแพทย์ว่าเคยป่วยหรือเคยมีการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกมาแล้ว หรือเจาะเลือดแล้วตรวจพบว่ามีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสไข้เลือดออกแล้วเท่านั้น สำหรับวัคซีนชนิดที่ 2 สามารถให้ได้ตั้งแต่เด็กอายุ 4 ปี จนถึงผู้ใหญ่อายุ 60 ปี แนะนำให้ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน และเป็นวัคซีนที่ให้ได้ในทุกคนที่ไม่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีน และไม่จำเป็นต้องซักประวัติหรือตรวจหาภูมิคุ้มกันก่อนการรับวัคซีน อย่างไรก็ตามวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น ดังนั้นจึงไม่สามารถให้ได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือได้รับยากดภูมิคุ้มกันอยู่ รวมถึงหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงให้นมบุตร
การป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดี คือ อย่าให้ยุงกัดและอย่าให้ยุงเกิด ทำได้ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้หมดสิ้น ใช้ทรายอะเบทในการทำลายลูกน้ำยุงลาย ซึ่งถือเป็นการตัดวงจรการระบาดของยุงได้ทุกชนิดสวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ทายาหรือฉีดสเปรย์ป้องกันยุง และอย่ารอให้เกิดอาการที่รุนแรงก่อนแล้วจึงมาพบแพทย์ เช่น หากมีไข้สูง เลือดออกง่ายผิดปกติ หรือช็อก ต้องรีบพบแพทย์ทันที”