สังคม » กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมใจหยุดเผาในพื้นที่เกษตร

กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมใจหยุดเผาในพื้นที่เกษตร

23 มกราคม 2024
363   0

Spread the love

วันที่ 23 มกราคม 2567  นายเจริญ พิมพ์ขาล เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมรณรงค์หยุดเผาในพื้นที่เกษตร และการบริหารจัดการเศษวัสดุทางการเกษตร ณ ตำบลบ้านเป้า อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยนายเสน่ห์ แสงคำ ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จ.เชียงใหม่ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การดำเนินงาน นายชัยณรงค์ นันตาสาย นายอำเภอแม่แตง กล่าวเปิดงานรณรงค์สร้างการรับรู้ดังกล่าวแก่เกษตรกร พร้อมนายอโนทัย เกื้อปัญญา เกษตรอำเภอแม่แตง ร่วมเสวนาให้ความรู่แก่ผู้ร่วมงาน

กรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 อย่างเป็นรูปธรรม โดยร่วมกันสนับสนุนองค์ความรู้และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับกับเกษตรกร เช่นการไถกลบตอซัง เพื่อเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน เพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกใหม่ เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 กับเกษตรกรในพืชที่ปลูกข้าว ส่วนในพื้นที่สูงจะเน้นการบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม การวิจัย การค้นคว้า และความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อให้ประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว ตามแนวทาง 3R Model ประกอบด้วย

1. เปลี่ยนพฤติกรรม (Re-Habit) ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชชนิดเดิมแบบไม่เผา โดยการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการเก็บเกี่ยว และส่งเสริม การแปรรูปเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดการเผา ดังนั้น การทำความเข้าใจกับเกษตรกรให้เข้าใจถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แม้จะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่จะต้องไม่สร้างมลพิษ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
2. เปลี่ยนชนิดพืช (Replace with High Value Crops) ปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกบนพื้นที่สูง จากพืชไร่เป็นไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชเศรษฐกิจแบบผสมผสานที่มีมูลค่าสูง เช่น กาแฟ อะโวคาโด มะคาเดเมีย หรือไม้โตเร็ว หรือปลูกผักในโรงเรือน หรือการทำให้พื้นที่บนดอยกลับเป็นสภาพป่า เป็นป่าไม้ หรือเป็นไม้ยืนต้น เกษตรกรหรือประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้

3. เปลี่ยนเป็นพืชทางเลือก (Replace with Alternate Crops) ปรับเปลี่ยนพืชทางเลือกบนพื้นที่ราบ เปลี่ยนพื้นที่นาปรังหรือพื้นที่นอกเขตชลประทาน ให้เป็นการปลูกข้าวโพดหรือพืชตระกูลถั่วทดแทนการทำนาปรัง
ดังในวันนี้ที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดกิจกรรมรณรงค์แก่เกษตรกรในพื้นที่โดยได้รับความร่วมการสนับสนุนเทคโนโลยี นวัตกรรม จากหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯและภาคีเครือข่าย โดยมีเกษตรในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวกว่า 100 ราย