เศรษฐกิจ » จุรินทร์ จ่ายวันนี้ “ส่วนต่างเกษตรกรมันสำปะหลัง” ชาวบ้าน 1 ธันวา โลละ 2.50 รายละไม่เกิน 30ไร่ ชาวบ้านเฮได้เงินสูงสุด 23,000 บาทต่อราย

จุรินทร์ จ่ายวันนี้ “ส่วนต่างเกษตรกรมันสำปะหลัง” ชาวบ้าน 1 ธันวา โลละ 2.50 รายละไม่เกิน 30ไร่ ชาวบ้านเฮได้เงินสูงสุด 23,000 บาทต่อราย

1 ธันวาคม 2019
730   0

Spread the love

1 ธันวาคม 2562 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางมาเป็นประธานการ kick off โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/2563 ครั้งที่ 1 ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ณ ห้องประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

นายจุรินทร์ กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลชุดนี้ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ก็ได้เร่งดำเนินนโยบายประกันรายได้เกษตรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ 5 ตัว ได้แก่ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ซึ่งได้เริ่มการโอนเงินส่วนต่างแล้ว สำหรับข้าวโพด ผมได้เป็นประธานในการหารือสามฝ่ายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และได้เคาะราคาประกันแล้ว ณ ราคา 8.50 ณ ความชื้น 14.5% และจะนำเข้า ครม. เพื่อขอความเห็นชอบและเริ่มโอนเงินได้ในวันที่ 20 ธันวาคมนี้

สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 2562/2563 ที่มีการโอนเงินส่วนต่างครั้งแรกในวันนี้ เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังตามนโยบายรัฐบาล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ในกรณีราคามันสำปะหลังตกต่ำ และเพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร หากไม่มีโครงการประกันรายได้ เกษตรกรจะมีรายได้เพียงช่องทางเดียว แต่หากมีโครงการประกันรายได้ เกษตรกรจะมีรายได้อีกช่องทางหนึ่ง จากเงินส่วนต่างระหว่างราคาที่ประกัน กับราคาตลาดอ้างอิง

โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังนี้จะประกันรายได้หัวมันสำปะหลังสด เชื้อแป้ง 25% ในพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ ณ หัวมันสดเชื้อแป้ง 25% กก.ละ 2.50 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 100 ตัน โดยคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ได้มีมติเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เห็นชอบราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง กก.ละ 2.27 บาท โดยมีส่วนต่างราคาที่จะต้องชดเชยให้เกษตรกร กก.ละ 0.23 บาท ซึ่งเกษตรกรจะสามารถได้รับเงินส่วนต่างชดเชยมากที่สุด 23,000 บาท ต่อครัวเรือน ทั้งนี้ มีเกษตรกรที่คาดว่าจะได้รับสิทธิในครั้งนี้ประมาณ 40,000 กว่าครัวเรือน

เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับเงินส่วนต่างต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกมันสำปะหลังและแจ้งปริมาณผลผลิตและระยะเวลาเก็บเกี่ยวกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นมา และต้องปลูกมันสำปะหลังจริง โดยคาดว่ามีทั้งหมด 470,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ เกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิก็สามารถได้รับเงินส่วนต่างได้ หากขึ้นทะเบียนและปลูกจริง ดังนั้น ขอให้เกษตรกรแจ้งข้อมูลการเพาะปลูกจริง ก็จะสามารถได้รับเงินส่วนต่างได้แน่นอน

นายจุรินทร์ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากมาตรการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังแล้ว รัฐบาลยังดำเนินมาตรการคู่ขนานอื่นๆเพื่อรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลังแบบยั่งยืน โดยรัฐบาลจะพยายามเพิ่มการใช้มันสำปะหลังในประเทศ เช่นการส่งเสริมให้นำมันไปทำพลาสติกชีวภาพ เหมือนในอินเดีย ที่มีนโยบายส่งเสริมพลาสติกชีวภาพ และห้ามใช้ถุงพลาสติก และหลอดดูดพลาสติก ซึ่งอินเดียผลิตไม่ทันกับความต้องการใช้ในประเทศ จึงเป็นโอกาสของไทย จึงขอให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังที่มีคุณภาพ และรัฐบาลเองก็มีนโยบายในการส่งเสริมพลาสติกชีวภาพในประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มการใช้ในประเทศได้อย่างแน่นอน

นอกจากนั้น ผมยังได้นำคณะเดินทางไปลงนาม MOU และเจรจาการค้าเพื่อส่งออกมันที่เมืองหนานหนิง ประเทศจีนปริมาณ 2.68 ล้านตัน มูลค่า 18636.2 ล้านบาท และเจรจาขายมันที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย 1,000 ตัน และเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี ปริมาณ 150,000 ตัน มูลค่า 690 ล้านบาท โดยอินเดียและตุรกีถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพมาก โดยในตุรกี ผู้ประกอบการต้องเสียภาษีนำเข้าแป้งมันถึง 7-9% ซึ่งขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าเจรจา FTA ระหว่างไทยและตุรกีให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อลดภาษีนำเข้าแป้งมันให้เหลือ 0% ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์พยายามทำ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคามัน และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร

นอกจากนี้ ในช่วงที่ราคามันตกต่ำ รัฐบาลมีมาตรการเสริมในการชะลอการขายมัน โดย ครม. ได้เห็นชอบให้ ธกส ให้สินเชื่อเกษตรกรกู้ดอกเบี้ยต่ำรายละไม่เกิน 230,000 บาท วงเงิน 1,500 ล้านบาท โดยรัฐจะช่วยจ่ายภาระดอกเบี้ย 3% เพื่อให้เกษตรกรเก็บผลผลิตหัวมันไว้ และปล่อยขายเมื่อราคามันเพิ่มสูงขึ้น และรัฐบาลยังมีมาตรการให้การซื้อขายมันที่ลานมันมีความยุติธรรม เนื่องจากการนำมันไปขายมักจะมักเศษดินติดไปด้วย จึงมักจะมีข้อพิพาทระหว่างลานมันกับเกษตรกรถึงน้ำหนักของดิน ต่อไปนี้จะให้มีการติดตั้งเครื่องร่อนมัน โดยกระทรวงพาณิชย์จะช่วยเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและชดเชยภาระดอกเบี้ย รวมทั้งการให้ใช้เครื่องชั่งและเครื่องวัดเชื้อแป้งที่ผ่านมาตรฐานของกรมการค้าภายใน

สำหรับการแก้ไขปัญหาโรคใบด่าง รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ 248 ล้านบาท ในการเร่งกำจัดโรคใบด่างที่เกิดจากแมลงหวี่ขาว และการจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรในการทำลายหัวมันที่ติดโรค โดยครอบคลุมทั้งแปลงที่มีกรรมสิทธิ์และที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ รวมทั้งการควบคุมการเคลื่อนย้ายหัวมัน เพื่อขจัดโรคใบด่างให้หายไปทั้งหมด

นายจุรินทร์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากการเริ่มโอนเงินส่วนต่างมันสำปะหลังเป็นครั้งแรกแล้ว วันนี้ยังมีกิจกรรมการลงนาม MOU ระหว่างสมาคมภาคเอกชน 4 สมาคม ได้แก่ สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังไทย และสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันลำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อร่วมมือกันไม่ให้เกิดการตัดราคาสำหรับการส่งออกมันไปยังต่างประเทศ เพื่อไม่ให้ราคามันตกต่ำ และส่งผลมายังเกษตรกร และจะร่วมกันทำราคาส่งออกแนะนำ เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายหัวมันได้ที่ราคาที่ดีขึ้น โดยหลังจากนี้ จะมีการประชุมทั้ง 4 สมาคม และกรมการค้าต่างประเทศทุกเดือนเพื่อผลักดันและติดตามโครงการนี้

สำหรับข้าว กระทรวงพาณิชย์จะนำมาตรการเสริมเพื่อไม่ให้ข้าวราคาตกต่ำ ได้แก่มาตรการลดต้นทุนการผลิต ช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ และมาตรการชะลอการขายข้าว เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม นบข และรัฐบาลจะจ่ายเงินส่วนต่างการประกันรายได้ชาวนาเร็วขึ้น จากวันที่ 15 ธ.ค. เป็นวันที่ 7 ธ.ค. นี้

“ผมขอแสดงความยินดีกับเกษตรกรทุกคนที่จะได้รับเงินส่วนต่างการประกันรายได้ และขอชื่นชมกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่ตั้งใจทำงานมาโดยตลอดเพื่อพี่น้องเกษตรกร และขอให้เกษตรกรทุกท่านได้สบายใจได้ว่านโยบายประกันรายได้นี้จะยังคงดำเนินต่อไปตลอดช่วงอายุรัฐบาลนี้ ” นายจุรินทร์กล่าวทิ้งท้าย