สังคม » สดร. ชวนจับตา 3 ดาวเคียงเดือนส่งท้ายพฤศจิกายน

สดร. ชวนจับตา 3 ดาวเคียงเดือนส่งท้ายพฤศจิกายน

26 พฤศจิกายน 2019
423   0

Spread the love

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชวนจับตาดาวเคียงเดือน ช่วงค่ำวันที่ 28 – 30 พ.ย. 62 ชมดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ และดาวเสาร์ เคียงดวงจันทร์เสี้ยวตามลำดับ  มาพร้อมปรากฏการณ์แสงโลก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เผยว่า ปลายเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ มีปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนติดต่อกันในช่วงระหว่างวันที่ 28 – 30 พฤศจิกายน 2562 เริ่มวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ดาวพฤหัสบดีเคียงดวงจันทร์เสี้ยว ข้างขึ้น 2 ค่ำ ห่างประมาณ 0.8 องศา จากนั้นวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ดวงจันทร์ข้างขึ้น 3 ค่ำ จะเคลื่อนขึ้นไปปรากฏระหว่างดาวศุกร์กับดาวเสาร์ และในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 ดวงจันทร์ข้างขึ้น 4 ค่ำ จะเคลื่อนขึ้นไปปรากฏใกล้ดาวเสาร์ ห่างประมาณ 6.8 องศา (การวัดระยะเชิงมุมท้องฟ้า ใช้มือเหยียดสุดแขนขึ้นบนฟ้า ระยะ 1 องศา จะห่างกันประมาณ 1 นิ้วก้อย) ดาวเคียงเดือนทั้ง 3 วันสังเกตได้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18:00 น. เป็นต้นไป มีเวลาสังเกตการณ์ประมาณ 1-2 ชั่วโมง

นายศุภฤกษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงฤดูหนาว สภาพท้องฟ้าใสไร้เมฆ จึงมีโอกาสสังเกตเห็น “ปรากฏการณ์แสงโลก” (Earth Shine) เกิดจากแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบผิวโลก สะท้อนไปยังดวงจันทร์ ทำให้ผู้สังเกตบนโลกมองเห็นพื้นผิวส่วนที่มืดของดวงจันทร์ นอกจากนี้ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ และดาวเสาร์ ในช่วงนี้ยังปรากฏให้เห็นทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ทุกเย็น จึงขอเชิญชวนผู้สนใจชมความสวยงามของปรากฏการณ์ท้องฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าว สามารถดูได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ

“ปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน” ถือเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์หนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากดวงจันทร์และดาวเคราะห์เปลี่ยนตำแหน่งบนท้องฟ้าไปเรื่อย ๆ ตามแนวสุริยะวิถี ดังนั้น การที่ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ปรากฏบนท้องฟ้าในทิศเดียวกัน หรือเคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกันจึงถือเป็นเรื่องปกติ นายศุภฤกษ์กล่าว