การศึกษา » ม.แม่โจ้ ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับ มูลนิธิชัยพัฒนา และ สวทช. มุ่งพัฒนาการเก็บรักษาทรัพยากรเชื้อพันธุกรรมพืชระยะยาว

ม.แม่โจ้ ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับ มูลนิธิชัยพัฒนา และ สวทช. มุ่งพัฒนาการเก็บรักษาทรัพยากรเชื้อพันธุกรรมพืชระยะยาว

21 มิถุนายน 2022
261   0

Spread the love

รศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดี และ ผศ.พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดีเข้าร่วมงาน เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาการเก็บรักษาทรัพยากรเชื้อพันธุกรรมพืชระยะยาว เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุลกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาการเก็บ รักษาทรัพยากรเชื้อพันธุกรรมพืชระยะยาว เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และและเทคโนโลยีแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารสานักงานมูลนิธิชัยพัฒนา 2012 กรุงเทพมหานคร

ด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา พระราชทานพระราชานุมัติให้มูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ดำเนิน “โครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาการเก็บรักษาทรัพยากรเชื้อพันธุกรรมพืชระยะยาวเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรเชื้อพันธุกรรมพืช รวมถึงการวิจัยและพัฒนาการเก็บรักษาแบบระยะยาว

มูลนิธิชัยพัฒนา สวทช. และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้จัดทำร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ขึ้น เพื่อนำเมล็ดพันธุ์ของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ มูลนิธิชัยพัฒนา ที่ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ดำเนินการปรับปรุงพัฒนาเป็นพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนพันธุ์แล้ว รวมถึงเมล็ดพ่อแม่พันธุ์พืชผักของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ได้รวบรวมไว้เพื่อการรักษาพันธุกรรมพืช เข้าเก็บรักษาในธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ โดยมีแผนที่จะดำเนินงานวิจัยการเก็บรักษาแบบระยะยาวต่อไป

สำหรับเมล็ดพันธุ์ที่จะทำการเก็บรักษาในครั้งนี้มีจำนวน 1,533 สายพันธุ์ แบ่งเป็น 9 ประเภท ประกอบด้วย พันธุ์พืชใหม่ที่ได้การรับรองพันธุ์ พืชตระกูลถั่ว ตระกูลพริกและมะเขือ ตระกูลแตง ตระกูลกะหล่ำปลี ตระกูลผักชี ตระกูลกระเจี๊ยบเขียว ตระกูลผักโขม และดอกไม้ อีกทั้งขอบเขตของความร่วมมือในครั้งนี้ ยังประกอบไปด้วย การร่วมกันดำเนินงานวิจัยและพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ร่วมกันจัดหาและสนับสนุนทรัพยากร เช่น บุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ สำหรับใช้ในการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงนี้ รวมถึงแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลทางวิชาการ การจัดฝึกอบรมและสัมมนา ระหว่างบุคลากรของทุกฝ่าย

การนำเมล็ดพันธุ์พืชที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เข้าเก็บรักษาในธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติครั้งนี้ จะเป็นอีกก้าวของนวัตกรรมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมการเก็บรักษาและการเก็บข้อมูลเมล็ดพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพ สามารถคงความมีชีวิตของพันธุกรรมพืชไว้ได้ยาวนาน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการปกป้องทรัพยากรชีวภาพของประเทศเพื่อที่จะสามารถนำไปพัฒนาในด้านอื่นๆ อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้เกิดความยั่งยืนสืบไป