เศรษฐกิจ » สมาพันธ์ SME เชียงใหม่จับมือศวท.มช. MOU ต่อยอดงานวิจัย ขับเคลื่อนศก.นวัตกรรมพลังงาน-อาหารและสมุนไพรเพื่อสุขภาพ

สมาพันธ์ SME เชียงใหม่จับมือศวท.มช. MOU ต่อยอดงานวิจัย ขับเคลื่อนศก.นวัตกรรมพลังงาน-อาหารและสมุนไพรเพื่อสุขภาพ

12 มกราคม 2022
688   0

Spread the love

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจังหวัดเชียงใหม่จับมือ MOU ศูนย์บริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช.ขยับตัวครั้งใหญ่จัดงาน “sCi to SMEs 2022” คัดเลือกผลงานวิจัย 4 ด้าน เชื่อม SMEs เชียงใหม่ พัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ด้านพลังงานสะอาด-ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสุขภาพ-สมุนไพรและเครื่องสำอาง และสิ่งทอแฟชั่น ภายใต้แนวคิด “ต่อยอดอดีต” “ปรับปัจจุบัน” และ “สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต” พร้อมสร้างโมเดลธุรกิจเชื่อมธุรกิจ-แหล่งเงินทุน ปั่น Start Up โตในพื้นที่เพื่อสร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นขยายตัว

อาจารย์ ดร. มาโนช นาคสาทา

อาจารย์ ดร. มาโนช นาคสาทา ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ศวท-มช.) เปิดเผยว่าทางศูนย์ฯ จะได้ร่วมกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จังหวัดเชียงใหม่ จัดงาน “sCi to SMEs 2022” เพื่อเป็นการเปิดเวทีให้ผู้ประกอบการพบนักวิจัยภายใต้แนวคิด “ต่อยอดอดีต” “ปรับปัจจุบัน” และ “สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต” ในวันที่ 19 มกราคม 2565 ระหว่างเวลา 9.30-16.30 น.บริเวณห้องโถงอาคาร 40 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยจะการออกบู้ธนำเสนองานวิจัยที่สามารถต่อยอดได้ รวมถึงผลิตภัณฑ์ของ SMEs ที่มีนวัตกรรมจำนวน 40 บู้ธ รวมถึงการนำเสนอนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด และพลังงานไฟฟ้าที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย รวมถึบจัดพิธีลงนามความร่วมมือ MOU ระหว่าง ศวท-มช. กับสมาพันธ์ SME ไทย จังหวัดเชียงใหม่ และการจับคู่นักวิจัยกับผู้ประกอบการในพื้นที่ด้วย
“การจัดงานครั้งนี้สอดคล้องนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่จะส่งเสริมให้เกิดกระบวนการการนําผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะการเชื่อมกับผู้ประกอบการ รวมถึงการนําผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ อันจะเป็นประโยชน์ทั้งการต่อยอดการวิจัยและต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม และเป็นแรงจูงใจให้มีการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพิ่มขึ้น”

นายอาคม สุวรรณกันธา ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จังหวัดเชียงใหม่

นายอาคม สุวรรณกันธา ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าการจัดงาน “sCi to SMEs 2022” เป็นงานที่มีความสำคัญที่สามารถต่อยอดเป็นต้นแบบในการนำผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงสู่ผู้ประกอบการ SME อย่างเป็นรูปธรรมและสามารถเกิดการค้าขายได้จริงรวมถึงมีขีดความสามารถยกระดับสู่ตลาดระดับประเทศและส่งออกได้ในอนาคต โดยเฉพาะการจัดงานครั้งนี้ทางสมาพันธ์ฯ ได้ร่วมกับทาง ศวท.มช. กำหนดไว้ 4 ด้านด้วยกันได้แก่ ด้านธุรกิจพลังงานสะอาด-ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสุขภาพ-สมุนไพรและเครื่องสำอาง และสิ่งทอแฟชั่น ซึ่งหากมีผู้ประกอบการ SME สนใจสามารถเชื่อมโยงจับคู่นักวิจัยภายในงานได้

ทั้งนี้ภายในงานจะมีผลงานวิจัยที่น่าสนใจได้แก่ ด้านพลังงานจะมีผลงานด้านแบตเตอร์รี่รถไฟฟ้าล่าสุด Future Energy Storage, MetalAir Battery เป็นต้น นอกจากนั้นจะมีผลงาน Packaging จาก mycelium , เจลเพิ่มพลังงานจากไซรับอินทผลัม ,ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเวชสำอางจากเห็ด,สารสกัดธรรมชาติยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ ,สูตรตำรับพืชสมุนไพรไทยในการต้านภาวะผมร่วง , เครื่องตรวจสุขภาพส่วนบุคคลที่วัดจากมือ ที่สามมารถวัดอุณหภูมิร่างกาย ความดันโลหิต ปริมาณน้ำตาลในเลือด อัตราการเต้นหัวใจ และปริมาณออกซิเจนในเลือด ,โครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยเทคโนโลยีควอนตัม รวมถึงบู้ธจาก SMEs ที่ครอบคลุมด้านอาหารปลอดภัย, สมุนไพร และด้านนวัตกรรมรถไฟฟ้าเป็นต้น

“ธุรกิจ SMEs เป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทยและท้องถิ่น เชียงใหม่มีจำนวนวิสาหกิจ SMEs ทั้งหมดประมาณ 95,000 ราย มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ มีวิสาหกิจชุมชน เป็นอันดับ 4 ของประเทศ จำนวน 2,855 ราย มีกลุ่มผู้ประกอบการ Startup จำนวน 189 ราย ซึ่งหากเกิดความร่วมมือได้ก็จะสร้างตลาดใหม่และธุรกิจเชื่อมโยงที่มีมูลค่าเพิ่มในพื้นที่ได้ไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี สามารถจ้างงานได้มากกว่า 400,000 คน และสร้างรายได้หมุนเวียนให้เชียงใหม่มากกว่า 40% หรือ 1 แสนล้านบาทต่อปี”
นายอาคม กล่าวอีกว่าการจัดงานครั้งนี้เพื่อให้เกิดขับเคลื่อนงานบริการทางวิทยาศาสตร์ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในพื้นที่ สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อผู้ประกอบการในการพัฒนาระบบคุณภาพกระบวนการผลิตสินค้า ประการสำคัญคือการสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และเอกชน เพื่อสร้างกลไกการส่งเสริม SMEs อย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดกระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ SMEs-Start Up ให้เช้าถึงนวัตกรรม และดิจิทัล และสถาบันการเงินที่สนับสนุน อันจะเป็นการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจในพื้นที่สูงขึ้นในอนาคตต่อไป